 |
ไก่ฟ้าพญาลอ
|
ชื่อสามัญ Siamese Fireback
|
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lophura diardi |
ลักษณะทั่วไป
เป็นไก่ฟ้าที่มีความสวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของไทย กรมป่าไม้เคยเสนอให้เป็นสัญลักษณ์นกประจำชาติ เมื่อปี พ.ศ.2528 ตัวผู้มีหนังหน้ากากสีแดงสด บนหัวมีเส้นขนแตกพุ่มตรงปลายสีดำเหลือบน้ำเงินยาวโค้งไปด้านหลัง ปากสีเหลืองขุ่น รอบคางใต้หน้ากากลงมามีขนสีดำ ลำตัวด้านบน อก คอ และปีกมีสีเทา ลักษณะเด่นคือ ตอนท้ายของลำตัวที่บริเวณใกล้โคนหางจะมีสีเหลืองแกมสีทองเห็นได้ชัดขณะกระพือปีก ขนคลุมโคนหางมีสีดำเหลือบน้ำเงินขอบสีแดงอิฐซ้อนกันหลายชั้น หางมีสีดำเหลือบเขียวยาวและโค้งลง ขนคลุมปีกมีลายสีดำขอบขาว ท้องสีดำ แข้งสีแดงมีเดือยข้างละ 1 เดือย ตัวเมียหน้าสีแดง บริเวณหน้าอก คอ หลังมีสีน้ำตาลแกมแดง ท้องมีลายเกล็ดน้ำตาลแดงขอบสีขาว ปีกมีสีดำสลับด้วยลายสีขาวตามแนวขวาง หางคู่บนสีดำสลับขาวส่วนคู่ล่างถัดลงมาสีน้ำตาลแกมแดง แข้งสีแดงไม่มีเดือย
|
.jpg)
ไก่ฟ้าพญาลอ ( Siamese Fireback; Lophura diardi )
|
อุปนิสัยและอาหาร
ในธรรมชาติไก่ฟ้าพญาลอชอบอาศัยตามป่าทึบเช่นป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้นและป่าดงดิบเขา แต่บางครั้งพบอยู่ตามป่าโปร่ง เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ในระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตัวผู้ชอบอาศัยอยู่โดดเดี่ยวหรือจับคู่หากินกับตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ ออกหากินตอนกลางวันและขึ้นคอนนอนตามต้นไม้สูงในเวลากลางคืน เป็นไก่ฟ้าที่เลี้ยงง่ายที่สุดในตระกูล Fireback ไม่ขี้อาย มักพบเห็นตอนเช้าเย็นตามถนนที่ผ่านป่า อาหารได้แก่ตัวหนอน แมลงต่างๆ ไส้เดือน สัตว์ขนาดเล็ก เมล็ดหญ้า เมล็ดพืช ผลไม้สุกที่หล่นตามพื้น เช่น ลูกไทรและพวกขุยไผ่ และชอบกินพวกสัตว์มากกว่าพืช สำหรับในกรงเลี้ยงสามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่เนื้อหรือไก่ไข่ตามช่วงอายุต่างๆที่มีขายตามท้องตลาดแล้วเสริมด้วยอาหารจำพวกหนอนเลี้ยงนก ปลวก รวมทั้งผัก ผลไม้และวิตามินสำหรับละลายในน้ำ ไก่ฟ้าพญาลอโตเต็มวัยกินอาหารสำเร็จรูปเฉลี่ย 35.00 กรัม/ตัว/วัน
|
.jpg)
ไก่ฟ้าพญาลอ ตัวเมีย
|
การผสมพันธุ์
กล่าวกันว่าไก่ฟ้าพญาลอในธรรมชาติเป็นสัตว์ที่จับคู่ประเภทผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งต่างจากการนำมาเลี้ยงในกรงที่ตัวผู้สามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้หลายตัว ในกรงเลี้ยงฤดูผสมพันธุ์และวางไข่อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม ตัวผู้เกี้ยวตัวเมียโดยใช้วิธียืนยืดอก กางปีก และกระพือปีกถี่ๆ การผสมพันธุ์ ตัวเมียจะหมอบลงกับพื้น ตัวผู้ขึ้นเหยียบหลังใช้ปากจิกที่หัวตัวเมียแล้วผสมพันธุ์อย่างรวดเร็ว การวางไข่หากเก็บไข่ไปฟักเองแม่ไก่จะวางไข่ได้ 2-5 ชุด แต่ไข่ชุดท้ายๆมักจะไม่มีเชื้อหรือมีอัตราการผสมติดน้อย วางไข่เฉลี่ย 21.67 ฟองต่อแม่ มีวงจรไข่ (Cycle) และการวางไข่แต่ละฟองในแต่ละตับ (Clutch) ไม่คงที่ โดยมีระยะห่างการวางไข่แต่ละฟองส่วนใหญ่ 2 วัน รองลงไปคือ 1 วัน ขนาดและรูปร่างไข่จะอ้วนป้อมคล้ายลูกข่าง ไม่เรียวยาวเหมือนไก่ฟ้าชนิดอื่น เปลือกไข่มีสีหลากหลายตั้งแต่สีขาวนวล สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาล ไม่มีลายหรือจุดกระที่เปลือก ไข่มีน้ำหนัก 40.46 กรัม กว้าง 38.71 ม.ม. ยาว 49.62 ม.ม. ดัชนีรูปร่างไข่ 78.01% ซึ่งพบว่าสีของเปลือกไข่ไม่มีผลต่ออัตราการฟักออกแต่อย่างใด ไข่ใช้เวลาฟัก 24-25 วัน ลูกไก่แรกเกิดมีน้ำหนักเฉลี่ย 26.71 กรัม และสามารถแยกเพศได้ตั้งแต่แรกเกิดโดยตัวผู้จะมีขอบหนังหน้ากากเด่นชัดกว่าตัวเมีย แต่จะแยกเพศได้แน่นอนจากรูปร่างและสีขนเมื่อมีอายุประมาณ 4-5 สัปดาห์ ลูกไก่ฟ้าพญาลอตัวเมียจะมีรูปร่างคล้ายตัวโตเต็มวัยแต่มีขนาดเล็กกว่าเมื่อมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน ส่วนตัวผู้เหมือนตัวเต็มวัยแต่ขนาดเล็กกว่าเมื่ออายุ 1 ปี และสามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้เมื่ออายุประมาณ 2 ปี

ขอขอบคุณที่มาของขอมูล โครงการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ (สพภ.)
|