ไก่ฟ้าเป็นสัตว์ปีกกลุ่มหนึ่งที่มีสีสันสวยงามโดยเฉพาะตัวผู้ เป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็น การถูกเรียกว่า “ไก่ฟ้า” น่าจะเป็นเพราะความสวยงามของมัน เปรียบเสมือนการเรียกผู้หญิงว่านางฟ้าซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่มีรูปโฉมสวยงาม ไก่ฟ้า หรือ Pheasant เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของนกในวงศ์ Phasianidae ประกอบไปด้วยไก่ฟ้าชนิดต่าง ๆ นกยูง ไก่ป่า นกกระทา นกแว่น และนกหว้า พูดกันง่าย ๆ ก็คือ นกกระทา ไก่ป่า นกแว่น และนกหว้า เป็นไก่ฟ้าชนิดหนึ่งนั่นเอง บรรพบุรุษของไก่ฟ้าเป็นไก่ป่า (Gallus gallus) ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าเขตร้อนของทวีปเอเชีย นกในวงศ์ Phasianidae ส่วนใหญ่มีสีสันสวยงาม ไก่ฟ้าเป็นนกที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน พวกมันจะหาอาหารและทำรังอยู่บนพื้น จะบินขึ้นไปเกาะบนต้นไม้เฉพาะในเวลานอนหรือไม่ก็ตอนที่ตกใจ เมื่อมีศัตรูเข้ามาใกล้ ๆ มันมีนิ้วกับเล็บที่ยาวและมีขาที่แข็งแรงมาก ซึ่งเหมาะกับการใช้คุ้ยเขี่ย หาอาหารตามพื้นดิน และหลายชนิดมีเดือยแหลมที่ขาโดยเฉพาะตัวผู้ ไก่ฟ้าทุกชนิดในวงศ์นี้ตัวผู้จะมีสีสันสวยงามกว่าตัวเมีย ทั้งยังมีพฤติกรรมคล้ายกับนก Bird of Paradise คือจะใช้เวลาส่วนตัวหมดไปกับการอวดโฉมและผสมพันธุ์กับตัวเมียหลายตัว ส่วนนกตัวเมียจะมีสีค่อนข้างกลมกลืนกับธรรมชาติ อย่างเช่นน้ำตาลและเทาเพื่อพรางตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเป็นการหลบซ่อนตัวจากศัตรูในเวลาที่มันต้องกกไข่และเลี้ยงดูลูกตามลำพัง ลูกไก่จะสามารถวิ่งได้ทันทีที่ออกจากไข่ ทั้งยังใช้เวลาไม่นานนักในการหัดบินขึ้นไปเกาะบนคอนตามต้นไม้ ไก่ฟ้ามีมากมายหลายชนิดกระจายอยู่ทั่วโลกซึ่งรวมกันได้ทั้งหมด 16 ตระกูล 48 ชนิด และมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียทั้งสิ้นยกเว้นเพียงชนิดเดียวคือนกยูงคองโกเท่านั้นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอาฟริกา สำหรับในประเทศไทยพบไก่ฟ้าอยู่ จำนวน 6 ตระกูล (Genus)
ในอดีตสามารถพบเห็นไก่ฟ้าได้ง่ายในป่าธรรมชาติของประเทศไทย แต่ปัจจุบันด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย การล่าเพื่อเป็นอาหารหรือเพื่อการค้าที่ผิดกฎหมาย ทำให้ไก่ฟ้าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันไก่ฟ้าในประเทศไทยทุกชนิดจัดเป็นสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามและพบเห็นได้ยากในป่าธรรมชาติ หลายชนิดถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกหว้า และนกแว่นสีน้ำตาล และอีกหลายชนิดจัดเป็นสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มจะสูญพันธุ์ เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าหน้าเขียว ไก่ฟ้าหลังเทา นกแว่นเหนือ และนกยูง เป็นต้น ซึ่งการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ในกรงเลี้ยงเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ไก่ฟ้าคงสายพันธุกรรมอยู่ได้ ในอดีตการเพาะเลี้ยง การซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนไก่ฟ้ายังทำกันในกลุ่มเล็กๆหลบๆซ่อนๆเพราะผิดกฎหมาย แต่ด้วยความสวยงามของไก่ฟ้าจึงมีคนเป็นจำนวนมากสนใจที่จะเพาะเลี้ยงทั้งที่ทราบว่าผิดกฎหมายโดยมีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งไก่ฟ้าพันธุ์ต่างประเทศและไก่ฟ้าพันธุ์ไทยเราเอง ทำให้เสียเงินตราแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
เป็นที่น่ายินดีที่หลายฝ่าย ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนได้พยายามช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ไก่ฟ้าไทยโดยการพยายามศึกษาด้านการเพาะเลี้ยงกันอย่างจริงจัง และประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจในการเพิ่มประชากรไก่ฟ้าในสภาพกรงเลี้ยง และปัจจุบันพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ.2535 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2546) ได้อนุญาตให้เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าตระกูลไก่ฟ้าได้ จึงนับว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้สนใจจะเพาะเลี้ยงไก่ฟ้าจะได้ทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไก่ฟ้าหลายชนิดเป็นสัตว์ที่เพาะเลี้ยงง่าย ให้ผลตอบแทนสูง สามารถที่จะเลี้ยงไว้ดูเล่นหรือประกอบเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล การสะสมประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงไก่ฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพื่อผู้เลี้ยงจะได้รับความสำเร็จและผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งคู่มือการเพาะเลี้ยงไก่ฟ้าเล่มนี้จะกล่าวถึงชนิดและคุณลักษณะทั่วไปของไก่ฟ้าเฉพาะที่พบในประเทศไทย รวมทั้งการจัดการด้านต่างๆในการเพาะเลี้ยง เพื่อเป็นแนวทางในการเพาะเลี้ยงไก่ฟ้าสำหรับมือใหม่และผู้ที่เลี้ยงอยู่แล้วให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป
|