ขอขอบคุณที่มาของขอมูล โครงการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจจากทรัพยากรชีวภาพ (สพภ.)

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ฟ้าพญาลอ
1. ปัญหาที่พบบ่อยอย่างหนึ่งในการเลี้ยงไก่ฟ้าพญาลอหรือไก่ฟ้าอื่นๆ คือการจิกตีกันซึ่งมักเกิดจากการเลี้ยงรวมกันมากเกินไป การไม่ยอมรับกันกรณีเปลี่ยนพ่อหรือแม่พันธุ์ที่ได้มาใหม่หรือทดแทนตัวที่ตาย เครียดจากการขาดอาหารหรืออื่นๆ ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องคอยระมัดระวังเพราะหากตัวไหนถูกจิกตีแล้วจะโดนรุมตีจนตาย วิธีป้องกันแก้ไขคือ อย่าเลี้ยงไก่รวมกันมากเกินไปโดยเฉพาะช่วงไก่รุ่น ปกติต้องการพื้นที่ประมาณ 1-3 ตารางเมตร/ตัว ในฤดูแล้งหรือวันที่มีอากาศแห้งเกินไปควรรดน้ำพื้นกรงเลี้ยงหรือให้อาหารเสริม เช่น พวกหนอนนก หรือ ผักต่างๆเพื่อลดความเครียดในตอนบ่าย อย่าจับตัวผู้หรือตัวเมียตัวใดตัวหนึ่งใส่ไปหาตัวที่อยู่ในกรงเพราะจะถูกเจ้าถิ่นกีดกันหรือเรียกทั่วไปว่าการหวงถิ่นที่อยู่ ให้ย้ายไปจับคู่ในกรงใหม่เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกหวงถิ่นเดิม จับตัวที่ถูกตีออกทายาสีม่วง (Gentian violet) หากแผลแตกให้ทำความสะอาดแผล เย็บและทายา บางครั้งอาจต้องฉีดยาป้องกันการอักเสบด้วย การขลิบหรือฝนปากที่แหลมคมของตัวที่ชอบจิกก็พอช่วยได้บ้าง
2. ไก่ฟ้าพญาลอสามารถแยกเพศได้ตั้งแต่แรกเกิด ปกติลูกไก่ฟ้าชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่หลังจากฟักออกมาใหม่ๆ ตัวผู้และตัวเมียจะคล้ายกันมาก แยกเพศได้ยาก แต่สำหรับไก่ฟ้าพญาลอนั้นสามารถแยกได้ว่าตัวไหนคือตัวผู้ตัวไหนคือตัวเมียโดยให้สังเกตดูที่ใบหน้าบริเวณขอบที่จะเป็นหนังหน้ากาก (ตัวผู้เต็มวัยจะมีหนังหน้ากากหนาใหญ่สีแดงสด) ถ้าตัวไหนมีแผ่นหนังแรบยื่นออกมาจะเป็นตัวผู้แต่ตัวไหนไม่มีจะเป็นตัวเมีย ซึ่งจากการศึกษาในลูกไก่ฟ้าพญาลอจำนวน 50 ตัว สามารถแยกเพศด้วยวิธีนี้ได้แม่นยำถึง 94% (47 ตัว) แต่หากจะดูให้ชัดเจนไก่ฟ้าพญาลอจะแยกเพศได้เร็วกว่าชนิดอื่นๆ คือที่อายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขนหางคู่กลางถ้าตัวผู้จะมีสีดำสลับสีน้ำตาลส่วนตัวเมียจะมีสีดำสลับสีขาว
3. ไก่ฟ้าพญาลอเมื่อมีอายุมาก ตัวเมียบางตัวจะมีลักษณะภายนอกคล้ายตัวผู้ ลักษณะการเปลี่ยนแปลง คือ ปกติเป็นแม่พันธุ์ที่วางไข่ให้ลูกทุกปีแต่มาเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไม่วางไข่ และสีขนเปลี่ยนไปคล้ายกับตัวผู้ ซึ่งอาจจะเหมือนหรือครึ่งๆกลางๆระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย เหตุผลเป็นเพราะว่ารังไข่ข้างขวาที่ปกติจะไม่พัฒนา เกิดการผิดปกติกลับมาทำงานผลิตฮอร์โมนทั้งเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งปกติไก่ตัวเมียจะมีรังไข่ข้างซ้ายเท่านั้นที่ทำงาน ดังนั้นไก่ตัวเมียจึงเกิดการเปลี่ยนลักษณะเพศซึ่งสัตว์พวกนี้จะเป็นหมันไม่สามารถวางไข่หรือผสมพันธุ์ได้
4. อายุการให้ผลผลิตของไก่ฟ้าพญาลอ ไก่ฟ้าพญาลอปกติจะผสมพันธุ์และวางไข่ได้เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป แต่จากการทดลองกระตุ้นยืดกลางวันให้นานขึ้นโดยเพิ่มความยาวแสงจากหลอดไฟดวงให้เป็น 14 ชั่วโมงต่อวันในเดือนตุลาคม ไก่ฟ้าพญาลอสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้เร็วขึ้นในเดือนพฤศจิกายน แทนที่ปกติจะผสมพันธุ์วางไข่เดือนมีนาคม ทำให้ได้ลูกไก่ฟ้าเร็วขึ้น ผลที่ตามมาคือ กลุ่มลูกไก่ฟ้าที่เกิดเร็วขึ้นเมื่อถึงฤดูการผสมพันธุ์วางไข่ฤดูต่อไปสามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ด้วยการมีอายุประมาณหนึ่งปีเศษ ในขณะที่ลูกที่ได้ในฤดูการปกติจะยังไม่สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้เพราะอายุยังไม่ชนขวบ และจากงานวิจัยพบว่ากลุ่มพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปี และ อายุ 10-13 ปี มีสมรรถนะการสืบพันธุ์ไม่แตกต่างกันทางสถิติ (P>0.05) แต่มีแนวโน้มว่ากลุ่ม 3-6 ปี จะมีอัตราการฟักออกดีกว่า ไก่ฟ้าพญาลอจะเริ่มให้ผลผลิตต่ำ ตาฝ้าฟาง แก่ตัวลง ตัวเมียบางตัวเปลี่ยนสีขนเป็นตัวผู้ และเริ่มหมดอายุขัยเมื่อมีอายุ 14-15 ปีขึ้นไป
สถานที่ติดต่อ/ขอข้อมูล : (ส่วนกลาง)
กลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เลขที่ 61 ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ : 0-2561-0777 , 0-2579-6666 ต่อ 1680
โทรศัพท์/โทรสาร : 0-2579-9630
สถานที่ติดต่อ/ขอข้อมูล : (ต่างจังหวัด)
1. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โทรศัพท์ : 08-1708-0170
2. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดอยตุง จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ : 08-1764-5127
3. สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสอยดาว จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ : 08-1983-5298
|